กุ่มบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crateva erythrocarpa Gagnep.) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)
สมุนไพรกุ่มบก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุ่ม, ผักกุ่ม, กะงัน ก่าม ผักก่าม สะเบาถะงัน (ภาคอีสาน), เดิมถะงัน ทะงัน (เขมร) เป็นต้น
ต้นกุ่มบก ในภาษาบาลีจะเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” ส่วนชาวฮินดูจะเรียกว่า “มารินา” ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงนำผ้าบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีในป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน) ไปซัก แล้วนำผ้าบังสุกุลดังกล่าวไปตากที่ต้นกุ่มบก โดยพฤกษเทวดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ก็ได้น้อมกิ่งของต้นให้ต่ำลงเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงตากจีวร
ลักษณะของกุ่มบก
- ต้นกุ่ม หรือ ต้นกุ่มบก กุ่มบกมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตามเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 6-10 เมตร ลำต้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา เปลือกต้นหนาค่อนข้างเรียบ มีเนื้อไม้หนาขาวปนเปลือง เนื้อละเอียด มักขึ้นตามที่ดอนและในป่าผลัดใบ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบต้นกุ่มได้มากทางภาคใต้และภาคกลาง เช่น จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา และระนอง
ใบกุ่มบก มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยอยู่ 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี มีความกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-11 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมหรือแหลม ส่วนโคนใบแหลมหรือสอบแคบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา มีเส้นแขนงของใบข้างละ 4-5 เส้น ที่ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร
ดอกกุ่มบก ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ ออกบริเวณตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงรูปรี มีความกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกมีสีขาวอมเขียวแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อน กลีบดอกเป็นรูปรี กว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้สีม่วงอยู่ประมาณ 15-22 อัน ส่วนก้านชูอับเรณูมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และก้านชูเกสรตัวเมียมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ส่วนรังไข่มีลักษณะค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม
ผลกุ่มบก ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง ผิวนอกแข็งและสาก เมื่อผลแก่เปลือกจะเรียบและมีสีน้ำตาล (ผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม) ส่วนก้านผลกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดจำนวนมาก
เมล็ดกุ่มบก เมล็ดมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้าหรือรูปไต ผิวเรียบ ขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร
สมุนไพรกุ่มบก โดยทั่วไปแล้วคนไทยสมัยก่อนมักปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ผล, ใบ, ดอก, เปลือกต้น, กระพี้, แก่น, ราก และเปลือกราก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าต้นกุ่มจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เพราะมีความเชื่อว่าการปลูกต้นกุ่มเป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยทำให้ครอบครัวมีฐานะมั่นคง เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนชื่อของต้นกุ่ม โดยจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน
สรรพคุณของกุ่มบก
- สรรพคุณสมุนไพรกุ่มบก รากนำมาแช่น้ำ ใช้ทำเป็นยาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
- รากกุ่มบกช่วยแก้มานกษัยอันเกิดแต่กองลม (ราก)
- เปลือกต้นมีรสร้อน ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาระงับประสาทและยาบำรุง (เปลือกต้น)
- ใบต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงหัวใจ (ใบ, เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงเลือดในร่างกาย (แก่น)
- ดอกและยอดอ่อนนำมาดอง ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก, ใบ, เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ, ดอก, เปลือกต้น)
- ใบกุ่มบกช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
- ใบกุ่มบกใช้แช่หรือดองกับน้ำกินช่วยแก้ลม (ใบ)
- กระพี้ช่วยทำให้ขี้แห้งออกมา (กระพี้)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการสะอึก (เปลือกต้น)
- ดอกช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ดอก)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ใบ,เปลือกต้น)
- ผลกุ่มใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูกได้ (ผล)**
- กระตุ้นลำไส้ให้ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาระบาย (เปลือกต้น)**
- เปลือกกุ่มบกช่วยแก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนท้อง แก้ลงท้อง (เปลือกต้น)
- ช่วยขับพยาธิ ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย (ใบ)
- แก่นช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (แก่น)
- ช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาโรคนิ่ว (เปลือกต้น)**
- ช่วยแก้โรคนิ่ว ขับนิ่ว (เปลือกต้น, แก่น)
- ช่วยขับน้ำดี (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำเหลือง (เปลือกต้น)**
- แก่นช่วยแก้ริดสีดวงทวารผอมเหลือง (แก่น)
- ช่วยแก้อาการบวม (เปลือกต้น)
- เปลือกใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยแก้โรคผิวหนัง (เปลือกต้น, ใบ)
- ใบนำมาตำใช้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)
- รากนำมาใช้ขับหนองได้ (ราก)
- ใบและเปลือกรากสามารถนำมาใช้ทาถูนวดเพื่อให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ ได้ (ใบ, เปลือกราก)
- เปลือกต้นนำมาใช้ในขณะที่ถูกงูกัด สามารถช่วยลดพิษของงูได้ (เปลือกต้น)**
- ใช้นำไปลนไฟให้ร้อน เอามาใช้ปิดหู จะช่วยบรรเทาอาการปวด อาการปวดศีรษะ และโรคบิดได้ (ใบ)**
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น