กุ่มน้ํา
กุ่มน้ำ ชื่อสามัญ Crataeva
กุ่มน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva religiosa G.Forst. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crataeva magna (Lour.) DC.[1]) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)
สมุนไพรกุ่มน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เหาะเถาะ (กาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี, ภาคตะวันตกเฉียงใต้), ผักกุ่ม ก่าม ผักก่าม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่, ภาคเหนือ), กุ่มน้ำ (ภาคกลาง), ด่อด้า (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกุ่มน้ำ
- ต้นกุ่มน้ำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-20 เมตร[1] เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ มีสีเทา จะผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก มักพบได้ตามริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ[2] หรือพบได้ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบที่มีความสูงระดับ 30-700 เมตรกุ่มน้ำ[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง
- ใบกุ่มน้ำ มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีอ่อนกว่าด้านบน มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความประมาณ 4-14 เซนติเมตร หูใบเล็ก ร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.5-18 เซนติเมตร ปลายค่อย ๆ เรียวแหลม มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามีก็ยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ใบกุ่มน้ำมีเส้นแขนงของใบข้างละประมาณ 9-20 เส้น และอาจมีถึงข้างละ 22 เส้น เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัดจากด้านล่าง เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง
สรรพคุณของกุ่มน้ำ
- เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
- แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)[2]
- รากและเปลือกต้นกุ่มน้ำใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีได้[6]
- รากใช้แช่น้ำกิน เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, ใบ)[2]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[2],[4]
- ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม หรือต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ (เปลือกต้น)[2]
- แก้ลมขึ้นเบื้องสูง (ใบ)[2]
- ช่วยแก้ไข้[1] (ผล, ใบ)[2] (เปลือกต้น)[2],[5]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยแก้อาเจียน (เปลือกต้น)[2],[4]
- ดอกกุ่มบกมีรสเย็น ช่วยแก้อาการเจ็บในตา (ดอก)[2]
- ช่วยแก้ลมทำให้เรอ (เปลือกต้น)[2]
- ใบมีรสหอมขม ช่วยขับเหงื่อ (ใบ[1],[2], เปลือกต้น[2])
- ช่วยแก้อาการเจ็บตา (ดอก)[1]
- ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ (ดอก)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)[1],[2] หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน ใช้ต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการก็ได้ (เปลือกต้น)[2]
- รากช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก)[3]
- เปลือกต้นมีรสขมหอม ช่วยขับผายลม หรือใช้เป็นยาขับลม ด้วยการใช้เปลือกต้นกุ่มน้ำผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ใบ)[2]
- ใบกุ่มน้ำใช้เป็นยาระบาย (ใบ[2],[4], เปลือกต้น[5])
- ช่วยขับพยาธิ (ใบ[2], เปลือกต้น[5])
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ[1], กระพี้[2])
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น