ใบเตย

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

ขลู่

ต้นขลู่

                                                  ขลู่


ขลู่ ชื่อสามัญ Indian marsh fleabane[1],[2],[3],[6]
ขลู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis indica L., Conyza foliolosa Wall. ex DC., Conyza corymbosa Roxb., Conyza indica (L.) Blume ex DC.[5]) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2],[3],[6]
สมุนไพรขลู่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน), หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู่ (ภาคกลาง), เพี้ยฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขลู คลู (ภาคใต้), หลวนซี (จีนกลาง), หล่วงไซ (แต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของต้นขลู่

ต้นขลู่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ๆ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว ที่ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ มักขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง หรือตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการปักชำ ด้วยการตัดลำต้นชำลงดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายและไม่ต้องการการดูแลรักษาแต่อย่างใด
ใบขลู่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น ๆ ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม โดยรอบมีขนขาว ๆ ขึ้นปกคลุม ใบมีความกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-9 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง และไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบสั้นมาก

สรรพคุณของขลู่

  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ใบสดแก่[5],[6], เปลือก ใบ เมล็ด[6])
  2. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยบำรุงประสาท (ใบ)[1],[5],[6]
  3. ทั้งต้นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5] ส่วนใบก็ใช้ชงดื่มเป็นน้ำชาก็มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวานได้เช่นกัน (ใบ)[4],[5]
  4. ใบใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)[4]
  5. ใบสดแก่และรากใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก, ใบสดแก่, ทั้งต้น[5], เปลือก ใบ เมล็ด[6])
  6. ช่วยรักษาโรคตานขโมย (ทั้งต้น)[2],[5]
  7. ช่วยแก้ตานซางในเด็ก เข้าใจว่าใช้ใบชงดื่มแทนน้ำชา (ใบ)[4]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (ทั้งต้น)[1],[5],[6]
  9. ขลู่ใช้ปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้โรคเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  10. ช่วยรักษาเลือดลม (ใบและต้นอ่อน, ทั้งต้น)[1],[5]
  11. ช่วยรักษาไข้ (ใบและราก[1],[2],[5],[6], ใบสดแก่[5])
  12. ช่วยขับเหงื่อ (ใบและราก[1],[5],[6], ใบสดแก่[5]) บ้างว่าช่วยล้างพิษได้ด้วย[8]
  13. ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการขูดเอาแต่ผิวของต้นนำมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบรักษาริดสีดวงจมูก (ผิวต้นหรือเปลือกต้น[1],[5],[6], ทั้งต้น[6], เปลือกต้น ใบ เมล็ด[6])
  14. เปลือกต้นนำมาสับเป็นชิ้น ๆ ใช้มวนบุหรี่สูบช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสได้ (เปลือกต้น)[5]
  15. ทั้งต้นสดหรือต้นแห้งใช้เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)[6]
  16. น้ำคั้นจากใบช่วยรักษาโรคบิด (ใบ[1],[5], ใบและราก[6])
  17. ดอกมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่ว (ดอก)[2],[5],[6] ทั้งต้นมีรสฝาดเค็ม มีสรรพคุณแก้นิ่วได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[4] ส่วนใบและรากมีรสหอมฝาดเมาเค็ม มีสรรพคุณขับนิ่วได้เช่นกัน (ใบ,ราก)[5]
  18. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาก่อนอาหารครั้งละ 75 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ถ้วยชา) วันละ 3 ครั้ง จะช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้ รักษาอาการขัดเบา (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[5],[6] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะด้วยเช่นกัน (ใบ)[5] ซึ่งจากการทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาชงที่ได้จากต้นขลู่จะมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้ดีกว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) และยังมีข้อดีก็คือ มีการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน[3]
  19. ทั้งต้นมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่วในไต (ทั้งต้น)[2],[5],[6]
  20. ทั้งต้นช่วยรักษาริดสีดวงทวาร หรือจะใช้เปลือกต้นด้วยการขูดเอาขนออกให้สะอาดแล้วลอกเอาแต่เปลือก นำมาต้มรมริดสีดวงทวารหนัก หรือจะใช้ใบสดเอามาตำบีบคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาทาตรงหัวของริดสีดวงทวาร จะช่วยทำให้หัวริดสีดวงทวารหดหายไปได้ (ทั้งต้น น้ำคั้นจากใบ[1],[2],[3],[4],[5],[6], เปลือก ใบ เมล็ด[6])

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น